เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 10. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว พูดกับสตรีหรือเด็กหญิง
อย่างนี้ว่า "แม่หนูชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีอะไรบ้างล่ะ ข้าวต้มมีไหม ข้าวสวยมีไหม
ของขบเคี้ยวมีบ้างไหม พวกอาตมาจักดื่มอะไร จักฉันอะไร จักเคี้ยวอะไร มีอะไร
บ้าง หรือพวกเธอจักถวายอะไรแก่อาตมาบ้างล่ะ" พูดพร่ำเพ้อไป การพูดพล่าม
การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ การพูดพร่ำเพ้อ กิริยาที่พูดพร่ำเพ้อ ภาวะที่พูดพร่ำเพ้อ
เห็นปานนี้ ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้
นี้ชื่อว่าความคะนองทางวาจา
ความคะนองทางใจ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษบางรูปในธรรมวินัยนี้ มิใช่ออกบวชจากตระกูลสูง ก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลสูง มิใช่ออกบวชจากตระกูลใหญ่ ก็มีจิตวางตัว
เช่นเดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลใหญ่ มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติ
มาก ... มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติยิ่งใหญ่ ... มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระสูตร ...
มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระวินัย ... มิใช่เป็นพระธรรมกถึก ... มิใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ...
มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... มิใช่เป็น
ผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ... มิใช่
เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ได้ปฐมฌาน ... มิใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ก็มีจิตวางตัวเช่นเดียวกับภิกษุผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี้ชื่อว่าความ
คะนองทางใจ
ความคะนอง 3 อย่างนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้ไม่คะนอง รวมความว่า ผู้ไม่คะนอง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :268 }